ทับหลังอีกสองชิ้นของปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทประธานปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ปราสาทประธานปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

เราๆ ท่านๆ ที่เคยไปเที่ยวชมปราสาทศีขรภูมิ ต่างได้ชื่นชมกับความงดงามของทับหลัง “ศิวนาฏราช” ที่ปราสาทประธานกันมานักต่อนัก

และหากเราๆ ท่านๆ ที่สนใจศึกษาประวัติของประสาทแห่งนี้จะพบว่าบทความที่กล่าวถึงทับหลังของปราสาทศีขรภูมิอีก 2 ชิ้น ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งชาวจังหวัดสุรินทร์เรียกร้องให้นำมาประกอบเข้ากับปราสาททั้งสององค์ เพื่อให้สถาปัตยกรรมนี้มีความสมบูรณ์

เนื่องจากปราสาทศีขรภูมิ เป็นปราสาทขนาดเล็ก ไม่มีโคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้า ไม่มีระเบียงคด และกำแพงแก้วล้อมรอบเหมือนกับปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ความงามและความสำคัญก็เลยลดน้อยลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ที่ปราสาทแห่งนี้ก็มีทับหลังแกะสลักภาพ ศิวนาฏราช ซึ่งได้รับคำยกย่องจากปราชญ์ทางศิลปโบราณคดีว่าเป็นทับหลังที่มีความสมบูรณ์ และมีฝีมือแกะสลักที่ปราณีตสวยงามที่สุดอีกแผ่นหนึ่งของประเทศไทย” (สมมาตร์ ผลเกิด.2534.105) จึงยังสามารถดึงดูดความสนใจของนักวิชาการและนักท่องเที่ยวได้บ้าง นอกจากนั้น ยังมีทับหลังอีก 2 ชิ้น “ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย” จังหวัดนครราชสีมา (ศิลปากร.2538 : 30) [จาก http://www.wisut.net/บุรีรัมย์-บทความ/ปราสาทศีขรภูมิ/]

วันนี้ ได้ไปเดินเล่นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ แล้วก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เลยไปพบว่า ทับหลังสองชิ้นดังกล่าวได้นำกลับมาที่สุรินทร์ถิ่นเดิมแล้ว แม้จะไม่ได้นำไปยังที่ที่มันจากไปก็ตาม

ภาพถ่ายครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จปราสาทศีขรภูมิ

จากคำบรรยายที่ติดไว้ ระบุว่า “ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์ และทับหลักจำหลักภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้างและคชสีห์” ศิลปะลพบุรี หรือศิลปะขอมแบบนครวัด พบบริเวณปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

เมื่อตรวสอบกับภาพถ่ายครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จปราสาทแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2472 แล้วก็พบว่า มีลักษณะแบบเดียวกัน

ดังนั้นแล้วเมื่อทับหลังสองชิ้นกลับมายังถิ่นเดิมของมันก็ดีใจประการหนึ่ง แต่จะดีใจมากกว่านี้ หากทับหลังทั้งสองชิ้นนี้กลับไปยังที่ที่มันจากมา คือ ปราสาทศีขรภูมิ ก็จะดีใจมากไปกว่านี้

ทับหลัง

ทับหลังสองชิ้นของปราสาทศีขรภูมิ ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

2 responses to “ทับหลังอีกสองชิ้นของปราสาทศีขรภูมิ

  1. ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวค่ะ

    สาเหตุที่กรมศิลป์ไม่ได้นำทับหลังทั้งสองชิ้นนี้ไปไว้ที่ตัวปราสาท น่าจะเกี่ยวกับเรื่องของหลักวิชาการ เพราะดูจากภาพเก่าแล้วพบว่าทับหลังวางอยู่บริเวณพื้นใกล้กับตัวปราสาทก็จริง แต่นักโบราณคดีอาจจะไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า เป็นชิ้นส่วนทับหลังของปราสาทหลังไหน(ปราสาทศีขรภูมิมีทั้งหมด 5 หลัง และปราสาทแต่ละหลังยังมีตำแหน่งสำหรับไว้ประดับทับหลังถึงสี่ด้าน) ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงไม่ได้นำทับหลังไปติดตั้งที่ตัวปราสาท และหากจะนำไปตั้งไว้ในตำแหน่งเดิมบริเวณพื้นรอบตัวปราสาท ก็เกรงว่าจะเสี่ยงต่อการสูญหายเพราะเป็นทับหลังที่มีความสมบูรณ์และสำคัญ ซึ่งตาม พรบ.โบราณสถานฯนั้น โบราณวัตถุศิลปวัตถุซึ่งเป็นสมบัติของชาติควรจะได้รับการดูแลรักษาโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนและลูกหลานของเราได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชม ก่อนที่สมบัติของบรรพบุรุษนั้นจะถูกโจรกรรมหายไปจากประเทศไทย

    ..ผู้เขียนเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม จึงขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งคิดว่าน่าตอบข้อข้องใจของเจ้าของบทความรวมถึงผู้อ่านบทความนี้ได้ในบางส่วน แต่จะตรงกับความคิดห็นของท่านอื่นๆหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติและวิจารณญาณแล้วละค่ะ.. ^ ^

    • ขอบคุณครับผม

      ขอเรียนตอบแบบคนสนใจเท่านั้นครับ
      1. ที่ปราสาทหินพิมาย มีป้ายติดไว้บริเวณทับหลังชิ้นต่างๆ ว่า “เดิมทับหลังชิ้นนี้อาจจะไม่ได้ติดอยู่ตรงนี้ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรมจึงนำมาติดไว้” ดังนั้น ถ้อยแถลงของกรมศิลปากรที่ว่าไม่รู้ว่าติดอยู่ที่องค์ไหนจึงน่าจะตกไปนะครับ
      2. ถ้าเกรงว่าจะสูญหาย ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะทับหลังศิวนาฏราชที่ประดับที่กรอบประตูปราสาทประธานงดงามและสมบูรณ์มาชิ้นหนึ่งของประเทศเช่นกันครับ… ประเด็นนี้ก็น่าจะตกไป

      ผมเองคิดเองว่าน่าจะเพราะปราสาทนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก ยกเว้นองค์ประธานกับองค์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ดังนั้น ประเด็นกลัวว่ามันจะตกลงมาพัง หรือโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว จึงน่าจะฟังดูสมเหตุสมผลกว่าครับ

      ความเห็นส่วนนะครับอาจไม่ใช่ก็ได้

      ขอบคุณที่ให้ความสนใจ ถ้าวันไหนมาเที่ยวสุรินทร์ มาที่ปราสาทศีขรภูมิ ยินดีนำชมนะครับ ^^

ใส่ความเห็น