ปราสาทภูมิโปน

วันนี้ไปที่นี่กันนะครับ…ปราสาทภูมิโปน

ข้อมูลเชิงวิชาการ
ปราสาท ภูมิโปน ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ในศาสนาฮินดู และเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณ เป็นร่องรอยของอารยธรรมเจนฬา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 1 นับเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ปราสาท ภูมิโปนเป็นศาสนสถาน ประกอบด้วยปราสาทอิฐ 3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลงซึ่งสร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ปราสาทอิฐหลังใหญ่ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดก่อนด้วยอิฐมีแผนผังเป็นรูปสี่ เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ เท่าที่เป็นได้ในปัจจุบันมี 3 ชั้น ใต้หน้าบรรณของประตูทางเข้าออกมีลายสลักเป็นรูปใบไม้ม้วน ในการขุดแต่งยังได้พบชิ้นส่วนของจารึก 1 ชิ้น จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ซึ่งนิยมใช้กันในเวลานั้น นอกจากนั้ยังพบทับหลังศิลปะเขมรแบบไพรกเม็งอีกด้วย

(ที่มากรมศิลปากร. (2550). ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งและพับลิชชิ่ง. ISBN 978-974-425-057-5)

ปราสาทประธาน

 

ปราสาททั้งสามองค์ที่เหลืออยู่


ภูมิโปนกับทิวตาล
ต้นตาลเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นดินแดนของเขมรโบราณ


ลวดลายสลักที่ปราสาทประธานที่ยังหลงเหลืออยู่

ช่วงก่อนสงกรานต์ปี่ ๕๓ มีการแสดงแสงสีเสียงที่ปราสาทภูมิโปน
เรื่องเนียงเดาะฮ์ธม เป็นคล้ายๆ นิทานปรัมปราของท่องถิ่นนี้
เนียงเดาะฮ์ธม เป็นภาษาเขมรครับ แปลตรงตัวได้ว่า “แม่นางนมโต”
แสดงโดยคุณตั๊ก บงกช (หลายคนบอกว่าเลือกตัวแสดงได้เยี่ยม)
ผมไม่ได้ไปดูหรอกครับ…เพราะไม่มีใครไปด้วย
ใครไปชมเอารูปมาฝากด้วยนะครับ

(ขอบคุณภาพจากสุรินทร์โฟโต้คลับ SurinPhotoClub)

ตำนานเนียงเดาะฮ์ธมมีเรื่องเล่าคู่กับปราสาทภูมิโปนดังนี้ครับ

ตำนานเนียงเดาะฮ์ธม ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย เป็นตำนานของปราสาทภูมิโปน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีเรื่องเล่าว่า ที่สระลำเจียก ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่มๆ ต้นลำเจียกที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีดอกเลย ในขณะที่ต้นอื่นๆนอกสระต่างก็มีดอกปกติ ความผิดปกติของต้นลำเจียกที่สระลำเจียกหน้าปราสาทจึงเป็นที่มาของตำนาน ปราสาทภูมิโปน การสร้างเมืองและการลี้ภัยของราชธิดาขอม

กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์หรือ เนียงเดาะฮ์ธม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่

กล่าวถึงเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งได้ส่งพรานป่าเจ็ดคน พร้อมเสบียงกรังและช้าง 1 เชือก ออกล่าจับสัตว์ป่าเพื่อจะนำมาเลี้ยงในอุทยานของพระองค์ พรานป่ารอนแรมจนมาหยุดพักตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน  แปลว่าหนองน้ำของนายพราน  ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรามในปัจจุบัน ในที่สุดกลุ่มพรานสามในเจ็ดคน ก็ดั้นด้นจนไปพบปราสาทภูมิโปน และไปได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า    พรานทั้งเจ็ดจึงได้ปลักลอบแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงน้ำ  และเห็นว่านางมีความงามสมคำร่ำลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชายินดีปรีดามากรีบจัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นพระชายาคู่บารมี

ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงน้ำก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมเเละเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้นางจะยอมเป็นคู่ ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน(ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบ เครื่องหอม ผมนางจึงหอม นางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโอลมานนั้นมีรูปร่างไม่หล่อเหลา แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทย์มนต์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางจึงได้แต่นิ่งอึ้ง และร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด

กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิทที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราช หฤทัยให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปร่ำร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว บุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน ก็ไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันทีเพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มี เหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมากเมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบ เจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนางและเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม

กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคน มาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้นก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทเเละคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีก พระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย(ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิ โปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮ ทม กลับชาติมาเกิด) เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานาง ไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้ายขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่งพร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ ขอให้ต้นลำเจียกอย่าได้ออกดอกอีกเลย หลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น (ซี จรูกแปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือ เรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน

ดังนั้นคำว่าภูมิโปน จึงมีความหมายโดยรวมว่า หมู่บ้านแห่งการหลบซ่อน (ภูมิ แปลว่า หมู่บ้าน โปน แปลว่า หลบซ่อน อีกความหมายหนึ่งแปลว่า มะกอก)

นี่แหละครับตำนานคู่ปราสาทภูมิโปน

เคยอ่านว่าตำนานที่มีพร้อมกับการสร้างโบราณสถานนั้นน่าสนใจทีเดียว
อย่างตำนานการสร้างปราสาทพนมวัน กับ พิมายก็น่่าสนใจ
(อ่านได้ในหนังสือเนะแขมร์อินไทยแลนด์ครับ)

แล้วจะไปเที่ยวไหนต่อดีครับเนี้ยะ…

3 responses to “ปราสาทภูมิโปน

  1. เรียน อาจาร์ยนฤพนธ์ ด้วยความนับถือ

    ผมอ่านหนังสือของกรมศิลปากรที่อาจารย์อ้างอิงเกี่ยวกับปราสาทภูมิโปน กับบทความที่อาจารย์ไพสต์บทความปราสาทภูมิโปนแล้ว ด้วยความนับถือ -ผมรู้สึกสับสนหลายๆข้อดังนี้ครับ……

    1. ระหว่างบทความที่แรกๆ อาจารย์ก็กล่าวว่า ปราสาทภูมิโปน เป็นร่องรอยของอารยธรรมเจนละ (-กรมศิลปากรไม่ได้ใช้คำว่า “เจนฬำ” นะครับ-) แต่บรรทัดต่อมาก็กล่าวว่า เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณ -ตกลงเป็นของ เจนละ หรือ เขมรโบราณ ครับ

    2. ในหนังสือกรมศิลปากร ไม่ได้กล่าวว่า ปราสาทภูมิโปนสร้างในสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 นะครับ บทความของกรมศิลปากรนั้น ต้องอ่านให้ตลอดทั้งประโยค จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้อง ไม่ใช่ตัดเอามาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไปอย่างลิบลับ
    หน้า 41 ของหนังสือกล่าวว่า ในราวปลาย (ขอย้ำว่าตอนปลาย) พุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (คือหลังจาก พ.ศ.1250 เป็นต้นไป) ดินแดนแถบนี้คงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมรโบราณส่วนที่เรียกว่า “เจนละบก” ได้ปรากฏการก่อตั้งบ้านเมืองขนาดใหญ่ ตามแบบวัฒนธรรมเขมรที่มีอายุสมัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ และของภาคอีสาน (หนังสือใช้คำว่า “แห่งหนึ่ง” -แสดงว่ายังมีที่อื่นๆอีก เช่นที่จังหวัดยโสธร แถวๆ เมืองเตย บ้านตาดทอง บ้านบึงแก บ้านเปือยหัวดง บ้านโพนเมือง เป็นต้น) คือชุมชนบ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ โดยมีปราสาทภูมิโปน ซึ่งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ในศาสนาฮินดู เป็นศูนย์กลางของชุมชน

    ครับ ในหนังสือของกรมศิลปากร ไม่ได้กล่าวไว้เลยว่า ปราสาทภูมิโปน สร้างขึ้นตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1

    เพียงแต่เน้นว่า ช่วงหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 อาณาจักรเจนละ ได้แบ่งแยกออกเป็น เจนละบก กับ เจนละน้ำ เท่านั้น (ดูหน้า 40ประกอบนะครับ)

    ปราสาทภูมิโปน สร้างขึ้นก่อนสมัยเขมรโบราณที่มีการตั้งบ้านเมืองขนาดใหญ่ตามแบบวัฒนธรรมเขมรที่ชุมชนโบราณบ้านภูมิโปน เพราะปราสาทภูมิโปนไม่ได้มีอยู่องค์เดียวโดดๆ แต่มีถึง 4 องค์ องค์ใหญ่ และองค์เหนือสุด สร้างขึ้นในสมัยไพรกเม็ง (พ.ศ.1182-1250) องค์อื่นๆสร้างในสมัยต่อๆมา

    ผมก็ขอให้ข้อสังเกตุเกี่ยวกับบทความทางวิชาการนะครับ เผื่อท่านผู้ที่ไม่มีหนังสือนี้อ่านบทความของอาจารย์เข้า จะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

    ครับผม

  2. ขอบคุณครับที่ร่วมแสดงความคิดเห็น
    ผมต้องออกตัวว่าผมเองก็ไม่ใช่คนเรียนมาทางประวัติศาสตร์ เพียงแต่ชอบศึกษาเท่านั้น จึงเป็นไปได้มากที่ข้อมูลอาจจะผิดพลาด ผมจะได้ศึกษาเพิ่มเติม และปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องครับผม

ส่งความเห็นที่ suthin ยกเลิกการตอบ